พายุ ของ ฤดูพายุเฮอริเคนแอตแลนติก พ.ศ. 2561

พายุโซนร้อนอัลเบร์โต

พายุโซนร้อน (SSHWS)
ระยะเวลา25 – 31 พฤษภาคม
ความรุนแรง65 ไมล์/ชม. (100 กม./ชม.) (เฉลี่ย 1 นาที)
990 mbar (hPa; 29.23 inHg)
  • วันที่ 21 พฤษภาคม หย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวขึ้นทางตะวันตกเฉียงใต้ของทะเลแคริบเบียน ซึ่งเป็นผลมาจากปฏิกิริยาระหว่างความกดอากาศต่ำระดับบน (Upper-level low) และร่องพื้นผิวกำลังอ่อน[1] โดยหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวเลี้ยวไปทางตะวันตกอย่างช้า ๆ ก่อนแล้วจึงเบนไปทางเหนือ และเริ่มมีการจัดระบบขึ้นภายในทะเลแคริบเบียน
  • วันที่ 25 พฤษภาคม เวลา 15:00 UTC (22:00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) ระบบมีความเพียงพอที่จะได้รับการจัดความรุนแรงเป็นพายุกึ่งโซนร้อน และได้ชื่อว่า อัลเบร์โต (Alberto) ขณะที่มันอยู่ห่างจากเกาะโกซูเมล รัฐกินตานาโร ประเทศเม็กซิโกไปทางใต้ประมาณ 90 กิโลเมตร[2] ทำให้ในฤดูกาลนี้เป็นฤดูกาลที่สี่ติดต่อกันแล้ว ที่มีพายุก่อตัวก่อนวันที่ฤดูกาลอย่างเป็นทางการจะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 มิถุนายน
  • วันที่ 26 พฤษภาคม หลังจากที่พายุเกือบไม่เคลื่อนตัวมาเกือบหนึ่งวัน อัลเบร์โตได้เริ่มเคลื่อนตัวไปทางเหนือเข้าสู่อ่าวเม็กซิโก ซึ่งมีลมเฉือนลดน้อยลงและมีอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลสูงกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้อัลเบร์โตเริ่มทวีกำลังแรงขึ้น
  • วันที่ 28 พฤษภาคม อัลเบร์โตเปลี่ยนผ่านตัวเองมาเป็นพายุโซนร้อนโดยสมบูรณ์ และมีกำลังสูงสุดที่ความเร็วลมต่อเนื่อง 100 กม./ชม. (65 ไมล์/ชม.) หลังจากนั้น เนื่องจากพายุมีปฏิกิริยากับอากาศแห้ง ทำให้พายุอัลเบร์โตอ่อนกำลังลงใกล้กับชายฝั่งด้านอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐ ก่อนจะพัดขึ้นฝั่งใกล้กับเมืองลากูนาบีช รัฐฟลอริดา สหรัฐ ในเวลาประมาณ 21:00 UTC (04:00 น. ของวันที่ 29 พฤษภาคมตามเวลาในประเทศไทย) ด้วยความเร็วลม 75 กม./ชม. (45 ไมล์/ชม.)[3] หลังจากพัดขึ้นฝั่งได้ไม่นานพายุก็อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน
  • วันที่ 31 พฤษภาคม อัลเบร์โตได้เปลี่ยนผ่านไปเป็นลักษณะพายุหมุนหลังเขตร้อนในที่สุด ขณะที่ปกคลุมอยู่ทางตอนเหนือของรัฐมิชิแกน โดยหย่อมความกดอากาศต่ำที่หลงเหลือนั้นถูกดูดซึมไปโดยระบบของแนวปะทะอากาศที่ปกคลุมอยู่เหนือรัฐออนแทรีโอในวันถัดไป[4]

พายุเฮอริเคนเบริล

พายุเฮอริเคนระดับ 1 (SSHWS)
ระยะเวลา4 – 16 กรกฎาคม
ความรุนแรง80 ไมล์/ชม. (130 กม./ชม.) (เฉลี่ย 1 นาที)
991 mbar (hPa; 29.26 inHg)
  • วันที่ 3 กรกฎาคม ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติเริ่มติดตามเส้นทางเดินของคลื่นเขตร้อนเหนือมหาสมุทรแอตแลนติกด้านตะวันออก ซึ่งมีโอกาสจะพัฒนาเป็นพายุหมุนเขตร้อนได้ คลื่นเขตร้อนมีการรวมตัวอย่างรวดเร็วในขณะที่กำลังเคลื่อนที่ไปทางตะวันตก
  • วันที่ 5 กรกฎาคม เวลา 15:00 UTC (22:00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) ระบบได้รวมตัวเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนขณะที่อยู่บริเวณตอนกลางของมหาสมุทรแอตแลนติก[5] สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเอื้ออำนวยให้ระบบขนาดเล็กทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และได้รับชื่อ เบริล (Beryl) ในเวลา 18:30 UTC (01:30 น. ของวันที่ 6 กรกฎาคม ตามเวลาในประเทศไทย)[6]
  • วันที่ 6 กรกฎาคม เวลา 06:00 UTC (13:00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) เบริลได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 1 โดยรูตาขนาดเล็กปรากฏให้เห็นเด่นชัด[7] เมื่อมันถูกกำหนดให้เป็นพายุเฮอริเคน มันจึงกลายเป็นพายุที่กลายเป็นพายุเฮอริเคนเร็วที่เป็นลำดับที่สอง ในพื้นที่พัฒนาหลัก (ทางใต้ของเส้นขนานที่ 20 องศาเหนือ และระหว่างเส้นเมริเดียนที่ 60 องศาตะวันตก ถึง เส้นเมริเดียนที่ 20 องศาตะวันตก) เป็นรองจากพายุเฮอริเคนลูกที่สองเมื่อปี 2476[8] การทวีกำลังนี้เป็นเพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น เนื่องจากการไหลเวียนระดับต่ำไปเร่งให้เกิดการเฉือนบนพายุหมุน และเป็นเหตุให้อ่อนกำลังลง
  • วันที่ 7 กรกฎาคม เบริลอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนในเวลา 15:00 UTC (22:00 น. ตามเวลาในประเทศไทย)[9]
  • วันที่ 8 กรกฎาคม อากาศยานลาดตระเวนของกองทัพอากาศสหรัฐได้บินสืบสำรวจพายุในช่วงรุ่งเช้าของวัน และพบว่าเบริลอ่อนกำลังลงเป็นร่องเปิด (Open trough) ส่วนศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติได้ปรับลดความรุนแรงของเบริลเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนในเวลา 21:00 UTC (04:00 น. ของวันที่ 9 กรกฎาคม ตามเวลาในประเทศไทย)[10] โดยส่วนที่หลงเหลือของเบริลยังถูกติดตามอยู่หลายวันนับจากนั้น แม้ว่าจะเกิดการจัดระบบเพียงเล็กน้อยในเวลานั้นก็ตาม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมทำให้มีการพัฒนาของพายุใหม่อีกครั้ง
  • วันที่ 14 กรกฎาคม เวลา 17:00 UTC (00:00 น. ของวันที่ 15 กรกฎาคม ตามเวลาในประเทศไทย) เบริลถูกจัดให้เป็นพายุกึ่งโซนร้อนอีกครั้งในขณะที่อยู่ใกล้กับเกาะเบอร์มิวดา โดยพายุที่เพิ่งฟื้นตัวเริ่มที่จะสูญเสียการพาความร้อนไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอากาศแห้งที่แทรกซึมเข้าไปในระบบพายุ
  • วันที่ 16 กรกฎาคม เวลา 03:00 UTC (10:00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) เบริลอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำที่หลงเหลืออีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ตัวพายุขาดการจัดการพาความร้อนไปมากกว่าสิบสองชั่วโมง[11]

พายุเฮอริเคนคริส

พายุเฮอริเคนระดับ 2 (SSHWS)
ระยะเวลา6 – 12 กรกฎาคม
ความรุนแรง105 ไมล์/ชม. (165 กม./ชม.) (เฉลี่ย 1 นาที)
970 mbar (hPa; 28.64 inHg)
  • วันที่ 2 กรกฎาคม ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติเริ่มติดตามระบบที่มีศักยภาพพัฒนาของบริเวณความกดอากาศต่ำที่ก่อตัวขึ้นใกล้กับเบอร์มิวดาในการหมุนเวียนของความกดอากาศต่ำ[12]
  • วันที่ 3 กรกฎาคม มีความกดอากาศต่ำนอกเขตร้อนก่อตัวขึ้นห่างจากเมอร์มิวดาไปทางใต้ประมาณ 100 ไมล์[13] มีฝนตกและพายุฟ้าคะนองและมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น โดยหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่กัลฟ์สตรีม
  • วันที่ 6 กรกฎาคม เวลา 21:00 UTC หย่อมความกดอากาศต่ำจัดระบบเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนสาม ขณะที่มันอยู่นอกชายฝั่งของรัฐนอร์ทแคโรไลนา การทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันนี้ช้า เนื่องจากการหมุนเวียนนั้นยืดขยายออก[14]
  • วันที่ 8 กรกฎาคม แต่อย่างไรก็ตาม ในเวลา 09:00 UTC พายุดีเปรสชันเขตร้อนสาม ถูกปรับเพิ่มความรุนแรงเป็นพายุโซนร้อน และได้รับชื่อ คริส (Chris)[15] แม้ว่าการพยากรณ์จะบอกว่า คริสจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุเฮอริเคนในวันรุ่งขึ้น แต่เนื่องจากการล่วงล้ำของอากาศแห้งและการลอยตัว เป็นผลให้พายุมีการทวีกำลังแรงขึ้นเพียงเล็กน้อยในระหว่างวัน
  • วันที่ 9 กรกฎาคม อย่างไรก็ตาม คริสสามารถนำอากาศแห้งออกจากการหมุนเวียนของมันได้ โดยการเพิ่มความเร็วการเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่พื้นที่ที่มีน้ำอุ่นขึ้น โดยมีตาแจ่มชัดและปรากฏให้เห็นอย่างน่าทึ่งผ่านภาพถ่ายดาวเทียน
  • วันที่ 10 กรกฎาคม เวลา 21:00 UTC ในที่สุด คริสก็ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุเฮอริเคน[16]
  • วันที่ 11 กรกฎาคม เวลา 03:00 UTC คริสได้ทวีกำลังแรงขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 2 โดยแถบการพาความร้อนภายในแกนเปลี่ยนผ่านไปเป็นกำแพงตาอย่างเต็มรูปแบบ[17] อย่างไรก็ตาม ตาของพายุเฮอริเคนเริ่มที่จะรุ่งริ่งในภายหลังและไม่แจ่มชัด ทำให้มันอ่อนกำลังลงเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 1 ในเวลา 21:00 UTC[18]
  • วันที่ 12 กรกฎาคม ในขณะที่พายุเคลื่อนที่ข้ามกัลฟ์สตรีมต่อเนื่อง คริสได้อ่อนกำลังลงโดยมีความรุนแรงต่ำกว่าพายุเฮอริเคนในเวลา 09:00 UTC[19] ในเวลานี้ คริสได้เริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปเป็นพายุหมุนนอกเขตร้อน และยังเกิดการขยายออกของสนามลมอีกด้วย คริสได้เปลี่ยนผ่านไปเป็นพายุหมุนนอกเขตร้อน และรวมเข้ากับระบบแนวปะทะอากาศในอีกหกชั่วโมงต่อมา[20]

ในวันที่ 7 มีผู้ชายคนหนึ่งเสียชีวิตจากการจมน้ำในทะเลที่มีพายุรุนแรง โดยคาดว่าเป็นพายุที่เมืองคิลเดวิลฮีลส์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา[21] ตัวพายุหมุนนอกเขตร้อนทำให้เกิดฝนตกหนักและลมกระโชกแรงในท้องที่นิวฟันด์แลนด์และลาบราดอร์ ในเมืองแกนเดอร์ วัดปริมาณน่ำฝนสูงสุดที่ 3.0 นิ้ว (76 มม.) ขณะที่ในเมืองเฟอร์รีแลนด์ วัดความเร็วลมได้ถึง 60 ไมล์/ชม. (96 กม./ชม.)[22] ปริมาณน้ำฝนสะสมสูงสุดในเกาะแซเบิลวัดได้ที่ 4.39 นิ้ว (111.6 มม.)[23]

พายุโซนร้อนเดบบี

พายุโซนร้อน (SSHWS)
ระยะเวลา7 – 9 สิงหาคม
ความรุนแรง50 ไมล์/ชม. (85 กม./ชม.) (เฉลี่ย 1 นาที)
1000 mbar (hPa; 29.53 inHg)
  • วันที่ 4 สิงหาคม ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติเริ่มติดตามหย่อมความกดอากาศต่ำนอกเขตร้อน ในมหาสมุทรแอตแลนติก โดยมีแนวโน้มจะพัฒนาเป็นพายุหมุนเขตร้อนหรือกึ่งเขตร้อน[24] ในขั้นแรก การพาความร้อนยังมีอยู่ในระดับที่จำกัด โดยระบบส่วนมากมีการพาความร้อนที่น้อยหมุนรอบทำปฏิกิริยากับความกดอากาศต่ำชั้นบน
  • วันที่ 7 สิงหาคม อย่างไรก็ตาม ระบบเข้าสู่บริเวณที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมมากขึ้น โดยเริ่มมีคุณลักษณะแบบกึ่งเขตร้อนขึ้น เวลา 15:00 UTC หย่อมความกดอากาศต่ำพัฒนาตัวขึ่น โดยมีการพาความร้อนและถูกจัดให้เป็นพายุกึ่งโซนร้อน เดบบี (Debby)[25] โดยระบบพายุเริ่มมีลักษณะของพายุหมุนเขตร้อนมากขึ้น ในขณะที่มันเคลื่อนตัวขึ้นไปทางเหนือ
  • วันที่ 8 สิงหาคม เวลา 09:00 UTC เดบบีกลายเป็นพายุหมุนเขตร้อนอย่างสมบูรณ์ โดยมีความเร็วลมสูงสุดเพิ่มขึ้นไปที่ 45 ไมล์/ชม. (75 กม./ชม.)[26] แม้ว่าอุณหภูมิน้ำทะเลในมหาสมุทรจะไม่สูงก็ตาม เดบบียังคงทวีกำลังแรงขึ้น โดยมีความรุนแรงสูงสุดที่ความเร็วลม 50 ไมล์/ชม. (85 กม./ชม.)[27] จากนั้นมาเดบบีจึงอ่อนกำลังลง
  • วันที่ 9 สิงหาคม เดบบีอ่อนกำลังลงและเริ่มสูญเสียคุณลักษณะของเขตร้อนไป ในเวลา 21:00 UTC เดบบีอ่อนกำลังลงเป็นพายุหมุนหลังเขตร้อน ในขณะที่มันเคลื่อนที่เร่งไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ นำหน้าร่องคลื่นสั้นไป[28]

พายุโซนร้อนเอร์เนสโต

พายุโซนร้อน (SSHWS)
ระยะเวลา15 – 18 สิงหาคม
ความรุนแรง45 ไมล์/ชม. (75 กม./ชม.) (เฉลี่ย 1 นาที)
999 mbar (hPa; 29.5 inHg)
  • วันที่ 12 สิงหาคม ระบบหย่อมความกดอากาศต่ำนอกเขตร้อนที่ซับซ้อนก่อตัวขึ้นบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ[29]
  • วันที่ 14 สิงหาคม หย่อมความกดอากาศต่ำดังกล่าวเคลื่อนตัวเลี้ยวไปทางตะวันออกเฉียงใต้และอ่อนกำลังลงอย่างช้า ๆ และมีหย่อมความกดอากาศต่ำหย่อมใหม่ก่อตัวขึ้น ทางด้านตะวันออกของหย่อมเดิม[30]
  • วันที่ 15 สิงหาคม เวลา 09:00 UTC หย่อมความกดอากาศต่ำที่ก่อตัวขึ้นนั้น มีการจัดระบบเพียงพอที่จะถูกจัดเป็นพายุดีเปรสชันกึ่งเขตร้อนได้[31] ต่อมาในเวลา 15:00 UTC พายุดีเปรสชันได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุกึ่งโซนร้อน และได้รับชื่อว่า เอร์เนสโต (Ernesto)[32]
  • วันที่ 16 สิงหาคม พายุหมุนกึ่งเขตร้อนเปลี่ยนผ่านไปเป็นพายุหมุนเขตร้อนอย่างสมบูรณ์ โดยมีการพาความร้อนเริ่มต้นขึ้นใกล้กับศูนย์กลาง อย่างไรก็ตาม ไม่นานนักมันได้สลายตัวไป[33] แต่กระนั้น ได้มีพลังลมฉับพลัน (burst) ของการพาความร้อนอีกระบบก่อตัวขึ้นใกล้กับศูนย์กลางภายในเวลาไม่กี่ขั่วโมงนับจากนั้น[34]
  • วันที่ 17 สิงหาคม เอร์เนสโตเริ่มเร่งความเร็วไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ และระบบได้เข้าไปพัวพันอยู่ในลมกรด
  • วันที่ 18 สิงหาคม พายุได้เปลี่ยนผ่านไปเป็นพายุหมุนนอกเขตร้อน[35]
  • วันที่ 19 สิงหาคม เศษที่หลงเหลือของเอร์เนสโตส่งผลกระทบกับประเทศไอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร[36][37]

พายุเฮอริเคนฟลอเรนซ์

พายุเฮอริเคนระดับ 4 (SSHWS)
ระยะเวลา31 สิงหาคม – 17 กันยายน
ความรุนแรง140 ไมล์/ชม. (220 กม./ชม.) (เฉลี่ย 1 นาที)
939 mbar (hPa; 27.73 inHg)
  • วันที่ 28 สิงหาคม ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติเริ่มกล่าวถึง ความเป็นไปได้ว่าจะก่อตัวเป็นพายุหมุนเขตร้อนจากคลื่นเขตร้อน ที่ปรากฏขึ้นทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา[38]
  • วันที่ 30 สิงหาคม คลื่นเขตร้อนเคลื่อนตัวออกจากชายฝั่งของประเทศเซเนกัล พร้อมกับพายุฝนฟ้าคะนองที่ไม่เป็นระเบียบ[39] และหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปรากฏขึ้นอย่างแจ่มชัด[40] เนื่องจากระบบได้คุกคามหมู่เกาะกาบูเวร์ดี ทำให้ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติได้ริเริ่มออกคำแนะนำกับ หย่อมความกดอากาศต่ำที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นพายุหมุนเขตร้อนได้ ลูกที่ 6 ในเวลา 15:00 UTC[41]
  • วันที่ 31 สิงหาคม เวลา 21:00 UTC ระบบได้จัดระบบจนกลายเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนลูกที่ 6[42]
  • วันที่ 1 กันยายน พายุดีเปรสชันเขตร้อนลูกที่ 6 ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน ฟลอเรนซ์ (Florence) โดยมีการทวีกำลังแรงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในขณะที่พายุกำลังเคลื่อนไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเฉเหนือ ข้ามผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกตอนกลาง
  • วันที่ 4 กันยายน เวลา 15:00 UTC ฟลอเรนซ์ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุเฮอริเคนลูกที่สามของฤดูกาล[43]
  • วันที่ 5 กันยายน ฟลอเรนซ์เผชิญกับการทวีกำลังแรงขึ้นอย่างรวดเร็วแบบกะทันหัน กลายเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 3[44] การทวีกำลังแรงขึ้นอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงเวลา 21:00 UTC โดยฟลอเรนซ์มีความรุนแรงเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 4 ที่ 22°24′N 46°12′W / 22.4°N 46.2°W / 22.4; -46.2 (ฟลอเรนซ์)[45] นับเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 4 ที่อยู่ไกลไปทางตะวันออกมากกว่าพายุระดับ 4 ลูกอื่นในยุคดาวเทียมของมหาสมุทรแอตแลนติก[46] อย่างไรก็ตาม การทวีกำลังแรงขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้พายุที่ทรงพลังเบนทิศทางออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ เข้าสู่พื้นที่ของลมเฉือนแนวตั้งขนาดใหญ่[47]
  • วันที่ 7 กันยายน ผ่านมากว่า 30 ชั่วโมง ฟลอเรนซ์ได้อ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วเป็นพายุโซนร้อน เนื่องจากลมเฉือนที่มีกำลังแรง พร้อมกับรูปแบบเมฆของพายุที่เริ่มบิดเบี้ยวไป[48]
  • วันที่ 9 กันยายน ต่อมาฟลอเรนซ์ได้เข้าสู่พื้นที่ของลมเฉือนที่น้อยลง และเข้าสู่บริเวณที่มีน้ำอบอุ่นกว่า ทำให้ฟลอเรนซ์กลับมาทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุเฮอริเคนได้อีกครั้ง[49]
  • วันที่ 10 กันยายน ฟลอเรนซ์เผชิญกับการทวีกำลังแรงขึ้นอย่างรวดเร็วครั้งที่สอง และมีกำลังเป็นพายุเฮอริเคนขนาดใหญ่อีกครั้ง[50] เวลา 16:00 UTC ฟลอเรนซ์ทวีกำลังกลับเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 4[51]
  • วันที่ 13 กันยายน ฟลอเรนซ์ส่งผลกระทบกับชายฝั่ง อย่างไรก็ตาม ฟลอเรนซ์ได้เผชิญกับวัฏจักรการแทนที่กำแพงตาและประสบกับลมเฉือนกำลังปานกลางโดยบังเอิญ ทำให้มันอ่อนกำลังลงเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 2[52]
  • วันที่ 16 กันยายน เมื่อพายุขึ้นฝั่งแล้ว ฟลอเรนซ์อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนอย่างรวดเร็วบนแผ่นดิน โดยศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติได้ออกคำแนะนำสุดท้ายในเวลา 10:00 UTC ผ่านความรับผิดชอบของศูนย์พยากรณ์อากาศ ในขณะนั้น ฟลอเรนซ์ได้เริ่มเร่งทิศทางไปทางตะวันตกอย่างค่อยเป็นค่อยไป[53]
  • วันที่ 17 กันยายน ฟลอเรนซ์เลี้ยวไปทางตะวันออกเฉียงเหนืออย่างช้า ๆ พร้อมทั้งอ่อนกำลังลงอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดฟลอเรนซ์ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำที่หลงเหลือ บริเวณรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย สหรัฐ[54] โดยฟลอเรนซ์ยังคงคุกคามแผ่นดินต่อไป โดยทิ้งฝนปริมาณมหาศาลในอีสเทิร์นซีบอร์ด
  • วันที่ 19 กันยายน ระบบสลายตัวไปอย่างสมบูรณ์ในพื้นที่เปิดของมหาสมุทรแอตแลนติด[55]

ฟลอเรนซ์เป็นภัยคุกคามขนาดใหญ่กับชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรัฐนอร์ทแคโรไลนาและรัฐเซาท์แคโรไลนา ซึ่งมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในหลายรัฐ รวมถึงรัฐเวอร์จิเนีย รัฐแมริแลนด์[56]และ วอชิงตัน ดี.ซี.ด้วย[57] ส่วนศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติได้ประกาศให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังพายุเฮอริเคนในเวลา 09:00 UTC ของวันที่ 11 กันยายน[58]

พายุโซนร้อนกอร์ดอน

พายุโซนร้อน (SSHWS)
ระยะเวลา3 – 8 กันยายน
ความรุนแรง70 ไมล์/ชม. (110 กม./ชม.) (เฉลี่ย 1 นาที)
997 mbar (hPa; 29.44 inHg)
  • วันที่ 30 สิงหาคม ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติเริ่มติดตามหย่อมความกดอากาศต่ำ ที่ก่อตัวขึ้นอยู่ทางตอนกลางค่อนไปทางเหนือของแคริบเบียน และให้หย่อมดังกล่าวมีโอกาสพัฒนาขึ้น 30% ภายใน 5 วัน[59] การจัดระบบของหย่อมค่อย ๆ ดำเนินไปเรื่อย ๆ ในขณะที่มันเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ มุ่งหน้าสู่ประเทศบาฮามาส
  • วันที่ 2 กันยายน เวลา 18:00 UTC หย่อมความกดอากาศต่ำถูกปรับให้เป็นระบบที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นพายุหมุนเขตร้อนหมายเลขเจ็ด (Potential Tropical Cyclone Seven) และได้พยากรณ์ว่ามันจะส่งผลกระทบกับแผ่นดินในฐานะพายุโซนร้อนภายในสองวัน[60]
  • วันที่ 3 กันยายน เวลา 12:05 UTC ระบบได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และได้รับชื่อ กอร์ดอน (Gordon) ขณะที่ระบบพายุกำลังเคลื่อนตัวอยู่เหนือฟลอริดาคีย์[61] แม้ว่าพายุจะทวีกำลังแรงขึ้นอีกเล็กน้อย ขณะเคลื่อนตัวปกคลุมอยู่ทางตอนใต้ของรัฐฟลอริดา แต่แกนกลางของพายุนั้นถูกรบกวน และการพาความร้อนที่เกี่ยวข้องกับระบบพายุเริ่มที่จะไม่เป็นระบบ[62] ต่อมาพายุได้เคลื่อนตัวลงสู่อ่าวเม็กซิโกในช่วงปลายของวัน ทำให้พายุกอร์ดอนเริ่มทวีกำลังแรงขึ้นอีกครั้ง และเริ่มมีการจัดระบบที่มากขึ้น โดยมีแถบของการพาความร้อนอย่างรวดเร็ว (deep convection) ก่อตัวขึ้นใกล้กับศูนย์กลางขนาดเล็กขอระบบพายุ
  • วันที่ 4 กันยายน พายุกอร์ดอนถึงความรุนแรงสูงสุด โดยมีความเร็วลมเฉลี่ยต่อเนื่องใน 1 นาทีที่ 70 ไมล์/ชม. (110 กม./ชม.) และเพียงไม่นานนักก็ได้พัดขึ้นฝั่งทางตะวันตกของรอยต่อระหว่างรัฐแอละแบมากับรัฐมิสซิสซิปปี[63] หลังจากพัดขึ้นฝั่งแล้ว กอร์ดอน ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน
  • วันที่ 5 กันยายน ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติออกคำแนะนำสุดท้ายกับระบบพายุกอร์ดอนในเวลา 16:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (CDT) ตัวพายุเคลื่อนตัวต่อไปในแผ่นดิน และอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว และไปเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ เหนือภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐ เป็นเวลาถึง 2 วัน
  • วันที่ 8 กันยายน พายุได้สลายตัวลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำที่หลงเหลือ (remnant low) อย่างสมบูรณ์ โดยเศษที่หลงเหลือนี้เคลื่อนตัวต่อไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ และทิ้งปริมาณน้ำฝนไว้เป็นจำนวนมาก
  • วันที่ 12 กันยายน เศษที่หลงเหลือจากพายุถูกดูดซึมไปโดยหน้าปะทะอากาศบริเวณนิวอิงแลนด์[64]

พายุเฮอริเคนเฮเลน

พายุเฮอริเคนระดับ 2 (SSHWS)
ระยะเวลา7 – 16 กันยายน
ความรุนแรง110 ไมล์/ชม. (175 กม./ชม.) (เฉลี่ย 1 นาที)
967 mbar (hPa; 28.56 inHg)
  • วันที่ 7 กันยายน ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติได้เริ่มติดตามหย่อมความกดอากาศต่ำที่อยู่ใกล้กับประเทศเซเนกัล ซึ่งเป็นหย่อมที่ก่อตัวขึ้นมาจากคลื่นในเขตร้อน ที่เคลื่อนตัวลงสู่ทะเลบริเวณชายฝั่งของแอฟริกาตะวันตก โดยมีการพยากรณ์ว่าระบบจะพัฒนาขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนในวันถัดไป[65] ระบบมีการจัดระบบอย่างรวดเร็ว ใกล้กับชายฝั่งด้านตะวันตกของทวีปแอฟริกา และถูกปรับให้เป็นระบบที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นพายุหมุนเขตร้อนหมายเลขแปด ต่อมาในเวลา 12:00 UTC ระบบได้เคลื่อนตัวออกมาจากชายฝั่งของทวีปแอฟริกา และส่งผลกระทบต่อหมู่เกาะกาบูเวร์ดี[66] ระบบยังคงจัดระบบต่อไป และพัฒนาขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนแปด และทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน โดยได้รับชื่อ เฮเลน (Helene) ในวันเดียวกันนั้น
  • วันที่ 9 กันยายน พายุโซนร้อนเฮเลนทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 1 ด้วยความเร็วลม 85 ไมล์/ชม. (140 กม./ชม.) ณ 13°54′N 27°12′W / 13.9°N 27.2°W / 13.9; -27.2 (เฮเลน)[67] ตามรอยพายุเฮอริเคนเฟรดเมื่อปี 2558 ที่ก่อตัวเป็นพายุเฮอริเคนทางฝั่งตะวันออกที่สุดของบริเวณพัฒนาหลัก (Main development region หรือ MDR) ในช่วงยุคดาวเทียม[68]
  • วันที่ 10 กันยายน เวลา 15:00 UTC เฮเลนทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 2[69]
  • วันที่ 13 กันยายน เวลา 15:00 UTC เฮเลนอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนอย่างรวดเร็ว โดยในเวลา 21:00 UTC มีการประกาศการเฝ้าระวังพายุโซนร้อน (Tropical storm watches) ในพื้นที่อะโซร์ส
  • วันที่ 14 กันยายน เวลา 09:00 UTC มีการยกระดับการเฝ้าระวังในพื้นที่ดังกล่าวขึ้นเป็นการเตือนภัย โดยตั้งแต่เมื่อวานนี้ พายุเฮเลนมีปฏิสัมพันธ์กับพายุโซนร้อนจอยซ์ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าอยู่ทางตะวันตก อันเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ฟูจิวาระ ทำให้การเคลื่อนตัวของพายุจอยซ์เกิดการหมุนทวนเข็มนาฬิการอบพายุเฮเลน[70] โดยในภายหลัง เฮเลยได้เริ่มเคลื่อนตัวเร่งไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ
  • วันที่ 15 กันยายน พายุเฮเลนเคลื่อนตัวผ่านบริเวณอะโซร์ส[71]
  • วันที่ 16 กันยายน พายุเฮเลนเปลี่ยนผ่านไปเป็นพายุหมุนนอกเขตร้อน ขณะที่กำลังเคลื่อนตัวไปทางบริติชไอลส์[72] และกลายเป็นชื่อของพายุลูกแรกในฤดูพายุลมทวีปยุโรป พ.ศ. 2561–2562[73]
  • วันที่ 18 กันยายน เฮเลนเคลื่อนตัวผ่านชายขอบทางตอนเหนือของประเทศไอร์แลนด์[74] ก่อนจะเลี้ยวเข้าสู่ทะเลนอร์วีเจียน[75]
  • วันที่ 22 กันยายน เศษที่หลงเหลือของเฮเลนถูกดูดซึมไปโดยพายุนอกเขตร้อนลูกอื่น[76]

ฝนที่ตกอย่างหนักจากเซลล์ตั้งต้นของคลื่นในเขตร้อนในประเทศกินี ทำให้เกิดอุทกภัยขึ้น ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 3 คนที่เมืองโดโกในวันที่ 6 กัรยายน[77] เมื่อเป็นพายุหมุนเขตร้อน ในวันที่ 15 กันยายน เฮเลนเคลื่อนตัวผ่านเข้าใกล้เกาะฟลอเรสในอะโซร์ส ด้วยความเร็วลมสูงสุด 62 ไมล์/ชม. (100 กม./ชม.) หลังจากที่เปลี่ยนผ่านเป็นพายุหมุนนอกเขตร้อนโดยสมบูรณ์แล้ว อดีตพายุเฮอริเคนเฮเลนได้เคลื่อนตัวต่อไปส่งผลกระทบกับประเทศไอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร โดยมีการเตือนภัยลมฟ้าอากาศในพื้นที่ภาคใต้และตะวันตกของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีการพยากรณ์ว่าจะมีลมพัดเร็วสูงสุด 105 กม./ชม.[78] อย่างไรก็ตาม เฮเลนอ่อนกำลังลงเมื่อเคลื่อนตัวเข้าสู่เกาะอังกฤษ การเตือนภัยลมฟ้าอากาศทั้งหมดจึงยุติลงในวันที่ 18 กันยายน โดยเฮเลนเคลื่อนตัวผ่านนอร์เทิร์นอิงแลนด์ และสร้างความเสียหายขึ้นเพียงเล็กน้อย

พายุเฮอริเคนไอแซก

พายุเฮอริเคนระดับ 1 (SSHWS)
ระยะเวลา7 – 15 กันยายน
ความรุนแรง75 ไมล์/ชม. (120 กม./ชม.) (เฉลี่ย 1 นาที)
993 mbar (hPa; 29.32 inHg)
  • วันที่ 2 กันยายน ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติเริ่มติดตามคลื่นในเขตร้อนที่อยู่บริเวณแอฟริกาตะวันตก[79]
  • วันที่ 7 กันยายน การพยากรณ์บ่งชี้ว่าคลื่นในเขตร้อนนี้มีโอกาสถึง 90% ที่จะพัฒนาขึ้นเป็นพายุหมุนเขตร้อนภายในไม่กี่วันข้างหน้า ซึ่งต่อมาในวันเดียวกันนี้ ระบบดังกล่าวที่ก่อตัวขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนแปด[80]
  • วันที่ 8 กันยายน พายุดีเปรสชันเขตร้อนได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และได้รับชื่อว่า ไอแซก (Isaac)[81]
  • วันที่ 10 กันยายน พายุโซนร้อนไอแซกทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 1 ต่อจากพายุเฮเลน โดยมีข้อสังเกตว่าระบบดังกล่าวนี้มีขนาดค่อนข้างเล็ก[82]
  • วันที่ 11 กันยายน เวลา 03:00 UTC พายุเฮอริเคนไอแซกอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน
  • วันที่ 14 กันยายน เวลา 09:00 UTC พายุโซนร้อนไอแซกอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน[83] อย่างไรก็ตาม ในเวลา 21:00 UTC ไอแซกได้กลับทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนอีกครั้งเป็นเวลาสั้น ๆ ก่อนจะอ่อนกำลังกลับไปเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนดังเดิมอีกครั้ง
  • วันที่ 15 กันยายน เวลา 10:00 UTC พายุดีเปรสชันเขตร้อนไอแซกสลายตัวไป โดยถูกยึดออกเป็นร่อง (trough)[84]

พายุโซนร้อนจอยซ์

พายุโซนร้อน (SSHWS)
ระยะเวลา12 – 19 กันยายน
ความรุนแรง50 ไมล์/ชม. (85 กม./ชม.) (เฉลี่ย 1 นาที)
997 mbar (hPa; 29.44 inHg)
  • วันที่ 11 กันยายน ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติได้เริ่มติดตามหย่อมความกดาอากาศต่ำนอกเขตร้อน ที่ทอดตัวอยู่ในแนวของร่องความกดอากาศต่ำ[85] ระบบมีการพัฒนาตรงกันข้ามกับการพยากรณ์ โดยหย่อมความกดอากาศต่ำมีลักษณะแบบกึ่งเขตร้อนอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเฉียงใต้
  • วันที่ 12 กันยายน หย่อมความกดอากาศต่ำเขตร้อนทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุกึ่งโซนร้อน และได้รับชื่อว่า จอยซ์ (Joyce)[86]
  • วันที่ 13 กันยายน พายุจอยซ์มีปฏิสัมพันธ์กับพายุเฮอริเคนเฮเลนที่มีขนาดใหญ่กว่า โดยเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ฟูจิวาระ ทำให้จอยซ์เริ่มเคลื่อนตัวแบบหมุนทวนเข็มนาฬิการอบพายุเฮเลน[70]
  • วันที่ 14 กันยายน เวลา 03:00 UTC จอยซ์เปลี่ยนผ่านมาเป็นพายุโซนร้อน[87] และเริ่มเคลื่อนตัวไปทางตะวันออก[88] ในช่วงปลายของวัน พายุจอยซ์มีกำลังสูงสุด โดยปรากฏการจัดระบบที่มากขึ้นในภาพถ่ายดาวเทียม[89] หลังจากนั้น พายุจอยซ์จึงเริ่มอ่อนกำลังลง เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของลมเฉือน
  • วันที่ 16 กันยายน เวลา 15:00 UTC จอยซ์อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน[90]
  • วันที่ 19 กันยายน เวลา 03:00 UTC จอยซ์อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำที่หลงเหลือ ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติจึงได้ออกคำแนะนำฉบับสุดท้ายกับระบบ[91]

พายุดีเปรสชันเขตร้อนลูกที่เจ็ด

พายุดีเปรสชันเขตร้อน (SSHWS)
ระยะเวลา22 – 23 กันยายน
ความรุนแรง35 ไมล์/ชม. (55 กม./ชม.) (เฉลี่ย 1 นาที)
1007 mbar (hPa; 29.74 inHg)
  • วันที่ 14 กันยายน คลื่นในเขตร้อนเคลื่อนตัวออกจากชายฝั่งด้านตะวันตกของทวีปแอฟริกา พร้อมกับสัญญาณที่แสดงถึงการหมุนเวียน เมื่อคลื่นดังกล่าวเคลื่อนตัวเข้ามาในเขตร้อนของแอตแลนติกแล้ว การหมุนเวียนดังกล่าวได้อ่อนกำลังลงไปเล็กน้อย โดยตัวคลื่นมีทิศทางการเคลื่อนตัวไปทางตะวันตก พร้อมกับพัฒนาการพาความร้อนและการจัดระบบที่ดีขึ้น[92]
  • วันที่ 18 กันยายน พื้นที่ขนาดใหญ่ของลมฟ้าอากาศแปรปรวนอันเกี่ยวเนื่องกับคลื่นในเขตร้อน ก่อตัวขึ้นห่างไกลจากเลสเซอร์แอนทิลลีสไปทางตะวันออกเฉียงใต้เฉตะวันออก[93]
  • วันที่ 20 กันยายน ในขั้นเริ่มแรก ระบบขาดการหมุนเวียนที่พื้นผิว แม้ว่าจะมีการหมุนเวียนกำลังอ่อนเกิดขึ้น อีกทั้งยังคาดว่าจะมีลมระดับสูงกำลังแรง และอากาศแห้งเข้ามาจำกัดการพัฒนาของพายุด้วย[94]
  • วันที่ 22 กันยายน การพาความร้อนอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะถูกพัดให้เคลื่อนไปอยู่ด้านตะวันออกของศูนย์กลางก็ตาม ทำให้พายุดีเปรสชันเขตร้อนก่อตัวขึ้นในเวลา 03:00 UTC[95]
  • วันที่ 23 กันยายน อย่างไรก็ตาม พายุดีเปรสชันล้มเหลวในการทวีกำลังแรงขึ้น ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดูเป็นมิตรกับพายุมากขึ้น ทำให้มันสลายตัวโดยถูกยึดออกเป็นส่วนหนึ่งของร่อง[96]

พายุโซนร้อนเคิร์ก

พายุโซนร้อน (SSHWS)
ระยะเวลา22 – 29 กันยายน
ความรุนแรง60 ไมล์/ชม. (95 กม./ชม.) (เฉลี่ย 1 นาที)
998 mbar (hPa; 29.47 inHg)
  • วันที่ 21 กันยายน คลื่นในเขตร้อนเคลื่อนตัวออกมาจากชายฝั่งด้านตะวันตกของทวีปแอฟริกา ใกล้กับประเทศเซียร์ราลีโอน[97] ตรงกันข้ามกับการพยากรณ์ที่บอกว่ามันจะมีการจัดระบบอย่างข้า ๆ โดยตัวคลื่นมีการจัดระบบอย่างรวดเร็วภายในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ในขณะที่มันเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกอย่างรวดเร็วผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกด้านตะวันออก
  • วันที่ 22 กันยายน เวลา 15:00 UTC คลื่นในเขตร้อนมีการจัดระบบอย่างเพียงพอที่จะถูกจัดให้เป็นพายุโซนร้อน และได้รับชื่อว่า เคิร์ก (Kirk)[98] เคิร์กเป็นพายุที่ได้รับชื่อ ณ พิกัดที่ 8.3 องศาเหนือ ทำให้มันกลายเป็นพายุที่อยู่ในละติจูดต่ำที่สุดที่เป็นพายุโซนร้อนในแอ่งแอตแลนติกเหนือ นับตั้งแต่พายุเฮอริเคนไม่มีชื่อในปี 2445[99] เมื่อเปรียบเทียบในแง่ของการก่อตัวในละติจูดต่ำที่สุดในความรุนแรงระดับพายุดีเปรสชันเขตร้อน ของแอ่งแอตแลนติกเหนือนั้นตำแหน่งนี้เป็นของพายุเฮอริเคนอิซิดอร์ เมื่อปี 2533 ซึ่งก่อตัวขึ้นที่ละติจูด 7.2 องศาเหนือ[100]
  • วันที่ 24 กันยายน มีการเปลี่ยนแปลงความรุนแรงเล็กน้อยเกิดขึ้น ในขณะที่เคิร์กกำลังเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วข้ามเขตร้อนของมหาสมุทรแอตแลนติก และอาจเพราะความเร็วในการเคลื่อนตัวของมัน ทำให้มันอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน[101] ก่อนสลายตัวเป็นร่องเปิด (open trough) ในเวลา 15:00 UTC[102]
  • วันที่ 26 กันยายน เศษที่เหลือของพายุยังคงเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกอย่างต่อเนื่อง และมีการจัดระบบขึ้นใหม่อย่างรวดเร็ว กระทั่งในเวลา 09:00 UTC เศษที่หลงเหลือของเคิร์กมีการไหลเวียนที่ดี ทำให้มันถูกจัดให้เป็นพายุโซนร้อนอีกครั้ง[103] และมีการประกาศใช้การเฝ้าระวังและเตือนภัยพายุโซนร้อน[104][105] ระบบพายุที่ก่อตัวขึ้นมาใหม่เริ่มทวีกำลังแรงขึ้น จนในเวลา 18:00 UTC เคิร์กมีความรุนแรงสูงสุดโดยมีความเร็วลม 60 ไมล์/ชม. (95 กม./ชม.)[106] และด้วยลมเฉือนที่มีกำลังแรงทำให้มันอ่อนกำลังลงเล็กน้อย ในขณะที่มันเคลื่อนตัวถึงเลสเซอร์แอนทิลลีส
  • วันที่ 28 กันยายน เวลาประมาณ 00:30 UTC เคิร์กได้พัดขึ้นฝั่งในประเทศเซนต์ลูเชีย[107] และอ่อนกำลังลงอย่างต่อเนื่องในขณะเคลื่อนตัวไปทางทะเลแคริบเบียน โดยการไหลเวียนที่พื้นผิวเริ่มเปิดออกไปทางตะวันตกของการพาความร้อนหลัก[108]
  • วันที่ 29 กันยายน เคิร์กสลายตัวไปเป็นคลื่นในเขตร้อนเหนือด้านตะวันออกของทะเลแคริบเบียน[109]

พายุเฮอริเคนเลซลี

พายุเฮอริเคนระดับ 1 (SSHWS)
ระยะเวลา23 กันยายน – 13 ตุลาคม
ความรุนแรง90 ไมล์/ชม. (150 กม./ชม.) (เฉลี่ย 1 นาที)
969 mbar (hPa; 28.61 inHg)
  • วันที่ 19 กันยายน ในช่วงกลายเดือนกันยายน ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติได้เริ่มเฝ้าระวังหย่อมความกดอากาศต่ำที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอะโซร์ส ที่อาจก่อตัวเป็นพายุหมุนเขตร้อนหรือพายุหมุนกึ่งเขตร้อนได้ในช่วงเวลานั้น[110]
  • วันที่ 22 กันยายน หย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวขึ้นนอกเขตร้อน[111]
  • วันที่ 23 กันยายน หย่อมดังกล่าวเปลี่ยนสถานะเป็นพายุเป็นพายุกึ่งโซนร้อนอย่างรวดเร็ว และได้รับชื่อจากศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติว่า เลซลี (Leslie)[112]
  • วันที่ 25 กันยายน หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงความรุนแรงเล็กน้อยเกิดขึ้นในระยะเวลาสองวัน เลซลีก็เริ่มอ่อนกำลังลง ในขั้นแรกอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันกึ่งเขตร้อน[113] ก่อนจะกลับมาเป็นพายุหลังเขตร้อน (post-tropical) ในช่วงปลายของวัน ในขณะที่ระบบเริ่มรวมตัวเข้ากับระบบที่อยู่ข้างหน้า[114] เลซลีได้ควบรวมกับระบบข้างหน้าดังกล่าว และเริ่มเกิดวังวนพายุหมุน (Cyclonic loop) ไปทางตะวันตก รวมทั้งเกิดการทวีกำลังขึ้นในช่วงนี้ด้วย
  • วันที่ 27 กันยายน เลซลีกลายเป็นพายุหมุนนอกเขตร้อนที่มีแรงลมระดับพายุเฮอริเคน[115]
  • วันที่ 28 กันยายน หลังจากถึงความรุนแรงสูงสุดของตัวเลซลีที่เป็นพายุหมุนนอกเขตร้อนแล้ว เลซลีค่อย ๆ อ่อนกำลังลง และเริ่มสูญเสียโครงสร้างแบบฟรอนทัลไป อย่างไรก็ตาม ในเวลาเดียวกันเลซลีจึงเริ่มเกิดคุณลักษณะแบบกึ่งเขตร้อนขึ้น โดยในเวลา 21:00 UTC เลซลีได้กลายเป็นพายุกึ่งโซนร้อนอีกครั้ง[116]
  • วันที่ 29 กันยายน หลังจากกลับมาทวีกำลังอีกครั้ง เลซลีได้กลายมาเป็นพายุหมุนเขตร้อนโดยสมบูรณ์[117]
  • วันที่ 3 ตุลาคม เลซลีทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 1 และกลายเป็นพายุเฮอริเคนลูกที่หกของฤดูกาล[118] อย่างไรก็ตามพายุเลซลีได้อ่อนกำลังลงกลับไปเป็นพายุโซนร้อนในช่วงปลายของวัน โดยภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่า เลซลีอาจจะกำลังอยู่ในภาวะวัฏจักรการแทนที่กำแพงตา แม้ว่ามันจะมีตาพายุที่มีขนาดใหญ่มาก[119]
  • วันที่ 7 ตุลาคม เลซลีเริ่มหันทิศทางมุ่งหน้าไปทางตะวันออกเฉียงใต้เฉตะวันออก[120]
  • วันที่ 8 ตุลาคม หลังจากพ้นช่วงอ่อนกำลังลงไปแล้ว เลซลีได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุเฮอริเคนอีกครั้งในช่วงปลายของวัน[121]
  • วันที่ 10 ตุลาคม เลซลีมีความรุนแรงเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 1 เป็นครั้งที่สอง[122]
  • วันที่ 13 ตุลาคม เลซลีเปลี่ยนผ่านไปเป็นพายุหมุนนอกเขตร้อนที่มีกำลัง ขณะที่อยู่ห่างจากลิสบอนไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเฉตะวันตก 190 กิโลเมตร

ในวันที่ 11 ตุลาคม มีการประกาศเตือนภัยพายุโซนร้อนในภูมิภาคปกครองตนเองมาเดรา นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเกาะ และพายุเลซลีถือเป็นพายุหมุนเขตร้อนลูกแรกที่พัดเข้าใกล้หมู่เกาะในระยะ 100 ไมล์ (160 กิโลเมตร) นับตั้งแต่ที่เริ่มมีการบันทึกในฤดูกาล 2349 โดยก่อนหน้าพายุเลซลี คือพายุเฮอร์ริเคตวินซ์ในฤดูกาล 2548 ที่พัดเข้าใกล้หมู่เกาะมากกว่าพายุหมุนเขตร้อนลูกใด[123]

ทางการของมาเดราประกาศปิดชายหาดและสวนสาธารณะ[124] เนื่องจากพายุทำให้มีเที่ยวบินของแปดสายการบินถูกยกเลิกเที่ยวบินที่บินไปยังมาเดรา การแข่งขันกีฬากว่า 180 การแข่งขันถูกยกเลิก[125]

พายุเฮอริเคนไมเคิล

พายุเฮอริเคนระดับ 5 (SSHWS)
ระยะเวลา7 – 12 ตุลาคม
ความรุนแรง160 ไมล์/ชม. (260 กม./ชม.) (เฉลี่ย 1 นาที)
919 mbar (hPa; 27.14 inHg)
ดูบทความหลักที่: พายุเฮอริเคนไมเคิล
  • วันที่ 2 ตุลาคม ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติเริ่มเฝ้าระวังหย่อมความกดอากาศต่ำที่ก่อตัวขึ้นเหนือด้านตะวันตกเฉียงใต้ของทะเลแคริบเบียน[126] ขณะที่ลมระดับบนที่พัดแรงได้เริ่มยับยั้งการพัฒนาตัวของระบบ ความแปรปรวนของสภาพอากาศได้มีการจัดระบบที่ดีขึ้นในขณะที่มันเคลื่อนที่เลี้ยวโค้งไปทางเหนือ และจากนั้นไปทางตะวันออกตามแนวของคาบสมุทรยูกาตัน
  • วันที่ 6 ตุลาคม ระบบมีการจัดระบบเบียบทางเพียงพอที่จะประกาศให้เป็นหย่อมความกดอากาศต่ำที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นพายุหมุนเขตร้อนได้ (Potential tropical cyclone) และศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติจึงได้ออกคำแนะนำกับระบบที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นพายุหมุนเขตร้อนหมายเลขสิบสี่ (Potential Tropical Cyclone Fourteen)[127][128]
  • วันที่ 7 ตุลาคม ระบบพัฒนาขึ้นเป็นพายุดีเปรสชัน[129] ก่อนที่จะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และได้รับชื่อ ไมเคิล (Michael) ในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา[130]
  • วันที่ 8 ตุลาคม พายุไมเคิลทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุเฮอริเคนอย่างรวดเร็ว[131]
  • วันที่ 9 ตุลาคม ในขณะที่พายุเฮอริเคนไมเคิลอยู่ในแนวใกล้ประชิดชายฝั่งด้านอ่าวของสหรัฐ ไมเคิลได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุเฮอริเคนขนาดใหญ่ โดยบรรลุความเร็วลมที่ 120 ไมล์ต่อชั่วโมง ทำให้มันกลายเป็นพายุเฮอริเคนขนาดใหญ่ลูกที่สองของฤดูกาล[132] อย่างไรก็ตาม ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติได้พยากรณ์ว่าพายุเฮอริเคนลูกนี้จะขึ้นฝั่งสหรัฐด้วยความเร็วลม 125 ไมล์ต่อชั่วโมง
  • วันที่ 10 ตุลาคม ข้อมูลจากเฮอริเคนฮันเตอร์ยังแสดงให้เห็นว่าพายุไมเคิลนั้นทวีกำลังแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นพายุระดับ 4 ในเวลา เวลา 06:00 UTC มีความเร็วลม 130 ไมล์ต่อชั่วโมง[133] เวลา 18:00 UTC ไมเคิลพัดขึ้นฝั่งเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 5 ด้วยความเร็วลมต่อเนื่องที่ 160 ไมล์ต่อชั่วโมง (250 กม./ชม.) และมีความกดอากาศต่ำที่สุด 919 มิลลิบาร์ (27.1 นิ้วปรอท) กลายเป็นพายุที่ทรงพลัง (มีความรุนแรง) ที่สุดในฤดูกาล และยังเป็นพายุที่มีความรุนแรงเป็นอันดับที่สาม ในบรรดาพายุเฮอริเคนที่พัดขึ้นฝั่งสหรัฐ ในแง่ความกดอากาศที่ศูนย์กลาง[134]
  • วันที่ 12 ตุลาคม หลังจากที่พายุไมเคิลเคลื่อนที่ผ่านทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐ ตัวพายุได้กลับทวีกำลังแรงขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากผลของแรงบารอคลินิก (Baroclinic forcing) อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นเพียงไม่นาน ระบบพายุได้เปลี่ยนผ่านไปเป็นพายุหมุนนอกเขตร้อน[135]

หย่อมความกดอากาศต่ำที่จะพัฒนาตัวขึ้นเป็นพายุไมเคิล และหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมด้านมหาสมุทรแปซิฟิกของทวีปอเมริกากลาง ทำให้เกิดอุทกภัยในทวีปอเมริกากลาง[136] บ้านเรือนเกือบ 2,000 หลังในประเทศนิการากัวได้รับความเสียหาย ประชาชน 1,115 คนถูกอพยพ บ้านเรือนประชาชนในประเทศเอลซัลวาดอร์และฮอนดูรัสก็ได้รับความเสียหาย 253 และ 180 หลังตามลำดับ ประชาชนในทั้งสามประเทศดังกล่าวกว่า 22,700 คนได้รับผลกระทบโดยตรงจากพายุ[137] ในสหรัฐ ความเสียหายระดับมหันตภัยเกิดขึ้นในเมืองเม็กซิโกบีช รัฐฟลอริดา เนื่องจากเป็นบริเวณที่พายุพัดขึ้นฝั่งขณะมีกำลังสูงที่สุด[138] พายุไมเคิลทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 60 ราย โดยอย่างน้อย 15 รายในทวีปอเมริกากลาง แบ่งเป็น ในประเทศฮอนดูรัส 8 คน[139] ประเทศนิการากัว 4 ราย และประเทศเอลซัลวาดอร์ 3 ราย[136][137] ส่วนในสหรัฐ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 57 รายทั่วรัฐฟลอริดา รัฐจอร์เจีย รัฐนอร์ทแคโรไลนา และรัฐเวอร์จิเนีย โดยส่วยมากอยู่ในรัฐฟลอริดา[140][141][142] ไมเคิลทำให้เกิดความเสียหายขึ้นอย่างน้อย 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.83 แสนล้านบาท) ในสหรัฐ[143] และยังมีความเสียหายเพิ่มเติมอีก 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในทวีปอเมริกากลาง[144]

พายุโซนร้อนนาดีน

พายุโซนร้อน (SSHWS)
ระยะเวลา9 – 12 ตุลาคม
ความรุนแรง65 ไมล์/ชม. (100 กม./ชม.) (เฉลี่ย 1 นาที)
997 mbar (hPa; 29.44 inHg)
  • วันที่ 7 ตุลาคม ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติได้เริ่มเฝ้าระวังหย่อมความกดอากาศต่ำที่มีความเกี่ยวข้องกับคลื่นในเขตร้อนปลายฤดูกาล ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่เกาะกาบูเวร์ดีไปทางใต้หลายร้อยไมล์ โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะพัฒนาขึ้นเป็นพายุหมุนเขตร้อน[145] หย่อมความกดอากาศต่ำนั้นยังคงจัดระเบียบตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ในขณะที่ภาพรวมของระบบกำลังเคลื่นที่ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเฉตะวันตก ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกตะวันออก
  • วันที่ 9 ตุลาคม ระบบมีศูนย์กลางการหมุนเวียนที่ชัดเจน จึงได้รับการประกาศให้เป็นพายุดีเปรสชัน[146] อีกห้าชั่วโมงต่อมา พายุดีเปรสชันดังกล่าวได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และได้รับชื่อ นาดีน (Nadine)[147] เมื่อถูกกำหนดว่าเป็นพายุโซนร้อนตั้งแต่อยู่ที่เส้นเมริเดียนที่ 30 องศาตะวันตก นาดีนจึงกลายเป็นพายุที่อยู่ทางตะวันออกที่สุดที่ถูกตั้งชื่อในแอ่งแอตแลนติก ในช่วงปลายของปีปฏิทิน[148]
  • วันที่ 10 ตุลาคม การทวีกำลังเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเกิดขึ้นในขณะที่พายุนาดีนกำลังเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ และถึงจุดที่มีความรุนแรงสูงสุดในฐานะพายุโซนร้อนที่ความเร็วลม 65 ไมล์/ชม. (100 กม./ชม.) และมีคุณลักษณะของตาในระดับกลางที่ดีปรากฏขึ้น[149] อย่างไรก็ตาม พายุหมุนเขตร้อนลูกเล็กนี้ได้พบกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยมากขึ้น และเริ่มอ่อนกำลังลงเมื่อศูนย์กลางระดับต่ำ เริ่มถูกเปิดออกจากผลของลมเฉือนตะวันตกกำลังแรง[150]
  • วันที่ 13 ตุลาคม เวลา 03:00 UTC นาดีนสลายตัวลงไปเป็นคลื่นในเขตร้อน และยังคงเคลื่อนที่ไปทางตะวันตกในแนวเขตร้อนของมหาสมุทรแอตแลนติกต่อไป[151]

พายุเฮอริเคนออสการ์

พายุเฮอริเคนระดับ 2 (SSHWS)
ระยะเวลา27 – 31 ตุลาคม
ความรุนแรง105 ไมล์/ชม. (165 กม./ชม.) (เฉลี่ย 1 นาที)
970 mbar (hPa; 28.64 inHg)
  • วันที่ 23 ตุลาคม ศูนย์เฮอริเคนกลางเริ่มพยากรณ์บริเวณที่มีศักยภาพก่อตัวเป็นพายุเขตร้อนหรือนอกเขตร้อน บริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกกลาง[152] บริเวณขนาดใหญ่ของพื้นที่อากาศแปรปรวนนั้นมีความเกี่ยวข้องกันกับการก่อตัวของร่องความกดอากาศต่ำที่พื้นผิว[153]
  • วันที่ 26 ตุลาคม การจัดระบบเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เป็นผลมาจากการที่หย่อมความกดอากาศต่ำเบี่ยงเส้นทางไปทางทิศเหนือ พร้อมด้วยการมีฝนตกและพายุฝนฟ้าคะนองซึ่งเป็นความหมายที่ดี แม้ว่ามันจะยังขาดการไหลเวียนที่ชัดเจนที่พื้นผิวก็ตาม[154]
  • วันที่ 27 ตุลาคม อย่างไรก็ตาม การไหลเวียนของหย่อมความกดต่ำอย่างหลวม ได้มีขึ้นอย่างเพียงพอที่จะจัดให้ระบบเป็นพายุกึ่งโซนร้อน และได้ชื่อว่า ออสการ์ (Oscar)[155]
  • วันที่ 28 ตุลาคม ออสการ์ยังคงทวีกำลังขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มันเร่งความเร็วไปทางใต้ในบริเวณด้านเหนือของความกดอากาศต่ำระดับกลางถึงบน และเปลี่ยนผ่านมาเป็นพายุโซนร้อนในเวลา 05:00 UTC[156] ตาพายุขนาดเล็กปรากฏให้เห็นชัดในภาพถ่ายดาวเทียม และต่อมาออสการ์ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 1 ในเวลา 21:00 UTC
  • วันที่ 30 ตุลาคม ออสการ์ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 2 ในเวลา 03:00 UTC[157] อย่างไรก็ตาม ระบบพายุได้อ่อนกำลังลงไปเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 1 ตามเดิมในเวลา 21:00 UTC ในขณะที่มันเดินทางมุ่งหน้าไปทางเหนือ[158]
  • วันที่ 31 ตุลาคม ออสการ์เกิดการ "เปลี่ยนแปลงคอสตูม" อย่างรวดเร็ว[159] ในขณะที่มันเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านไปเป็นพายุหมุนนอกเขตร้อน และกระบวนการสมบูรณ์ในเวลา 21:00 UTC[160]

ใกล้เคียง

ฤดูพายุเฮอริเคนแอตแลนติก พ.ศ. 2561 ฤดูพายุเฮอริเคนแอตแลนติก พ.ศ. 2562 ฤดูพายุเฮอริเคนแอตแลนติก พ.ศ. 2563 ฤดูพายุเฮอริเคนแอตแลนติก พ.ศ. 2559 ฤดูพายุเฮอริเคนแอตแลนติก พ.ศ. 2564 ฤดูพายุเฮอริเคนแอตแลนติก พ.ศ. 2558 ฤดูพายุเฮอริเคนแอตแลนติก พ.ศ. 2565 ฤดูพายุเฮอริเคนแอตแลนติก พ.ศ. 2560 ฤดูพายุเฮอริเคนแอตแลนติก พ.ศ. 2556

แหล่งที่มา

WikiPedia: ฤดูพายุเฮอริเคนแอตแลนติก พ.ศ. 2561 http://climate.weather.gc.ca/climate_data/daily_da... http://thoughtleadership.aonbenfield.com/Documents... http://thoughtleadership.aonbenfield.com/Documents... http://thoughtleadership.aonbenfield.com/Documents... http://www.met.fu-berlin.de/de/wetter/maps/Analyse... http://www.met.fu-berlin.de/de/wetter/maps/Analyse... http://www.met.fu-berlin.de/de/wetter/maps/Analyse... http://www.nhc.noaa.gov/data/tcr/AL012018_Alberto.... http://www.wmo.int/pages/prog/www/tcp/documents/RA... http://www.wmo.int/pages/prog/www/tcp/documents/RA...